ฐานภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล
ผู้ประกอบการ SME ที่ประกอบกิจการในรูปแบบของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ
อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล SMEs (ภ.ง.ด.51 , ภ.ง.ด.50)
SMEsที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 30 ล้านบาท ภายในรอบระยะเวลาบัญชี
นิติบุคคล | กำไรสุทธิ ( บาท ) | อัตราภาษี ( ร้อยละ ) |
SMEsที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท | 0 – 300,000 | ยกเว้น |
และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 30 ล้าน | 300,001- 3 ล้าน | 15 |
ภายในรอบระยะเวลาบัญชี | มากกว่า 3 ล้านบาท | 20 |
ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด.51)
หลักการหากำไรสุทธิเพื่อคำนวณภาษี
- กำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริงในรอบ 6 เดือนแรก นับแต่วันเริ่มต้นของรอบระยะเวลาบัญชี
- กำไรสุทธิที่เกิดจากการประมาณการโดยใช้เกณฑ์สิทธิ
วิธีคำนวณภาษี
กึ่งหนึ่งของกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริง หรือกำไรสุทธิที่เกิดจากประมาณการ X อัตราภาษีเงินได้
ข้อสังเกต
- ประมาณการกำไรสุทธิขาดไป เกินกว่าร้อยละ 25 จะต้องเสียเงินเพิ่ม ร้อยละ 20 ของภาษีจากกำไรสุทธิ
ที่ประมาณการขาดไป
- ขาดทุนสุทธิหรือไม่มีรายได้ก็ต้องยื่นแบบฯ
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นใหม่และมีรอบระยะเวลาบัญชีแรกน้อยกว่า 12 เดือนไม่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ตามมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด.50)
หลักการหากำไรสุทธิเพื่อคำนวณภาษี
กำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริงของรอบระยะเวลาบัญชีโดยใช้เกณฑ์สิทธิ
วิธีคำนวณภาษี
กำไรสุทธิ X อัตราภาษีเงินได้
ข้อสังเกต
- ในการนำส่งภาษีใช้งบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต พร้อมกับแบบ ภ.ง.ด.50
- ขาดทุนสุทธิหรือไม่มีรายได้ก็ต้องยื่นแบบฯ
- สามารถนำภาษีที่ชำระแล้ว ตามแบบ ภ.ง.ด.51 และภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายมาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระได้
สถานที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล
(ภ.ง.ด.51 , ภ.ง.ด.50)
1. ยื่นแบบได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่
– ภ.ง.ด.51 .ยื่นแบบภายใน 2 เดือน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
– ภ.ง.ด.50 ยื่นแบบภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
2. ยื่นแบบผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเว็บไซต์ www.rd.go.th
– ภ.ง.ด.51ยื่นแบบภายใน 2 เดือน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
ได้รับสิทธิขยายเวลาการยื่นแบบ และชำระภาษีออกไปเป็นภายใน 2 เดือน 8 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
– ภ.ง.ด.50 ยื่นแบบภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ได้รับสิทธิขยายเวลาการยื่นแบบ และชำระภาษีออกไปภายใน 158 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
การชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล
- การชำระภาษีสำหรับแบบที่ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
1.1. เงินสด
1.2. เช็คหรือแคชเชียร์เช็ค เช็คทุกประเภทสั่งจ่ายแก่ “กรมสรรพากร”และขีดฆ่าคำว่า “ผู้ถือ” ออก
1.3. บัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตร Tax Smart Card (เฉพาะสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาที่มีเครื่องรูดบัตร)
- การชำระภาษีสำหรับแบบที่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต
2.1. ชำระแบบเชื่อมต่อไปยังระบบชำระเงินของธนาคารโดยตรง
– E – Payment
– ATM Internet (ATM บนอินเทอร์เน็ต)
– Internet Credit Card (บัตรเครดิตบนอินเทอร์เน็ต)
2.2. ชำระด้วยชุดชำระเงิน (Pay in Slip) หรือด้วย QR Code & Barcode
– Counter Service (ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการยื่นแบบ , ไปรษณีย์ 7-Eleven , Tesco Lotus , Big C และ TrueMoney)
– ATM
– Internet Banking
– Tele Banking
– Phone Banking
– Mobile Banking
– Tax Smart Card
บทกำหนดโทษ
ภ.ง.ด.51
1. กรณีไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 หรือไม่ยื่นภายในกำหนดเวลา และมีภาษีต้องเสียต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของเงินภาษีที่ต้องชำระ
2. กรณีไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 หรือไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาเว้นแต่จะแสดงว่า ได้มีเหตุสุดวิสัย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
3. กรณียื่นรายการและชำระภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิโดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยไม่มีเหตุอันสมควรต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของภาษีที่ชำระไว้ขาด
4. เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 พร้อมยื่นบัญชีโดยมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตหรือผู้สอบบัญชีอากร แล้วแต่กรณี ตรวจสอบและรับรอง ภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีพร้อมกับชำระภาษี (ถ้ามี) โดยนำส่งภาษีที่ชำระไว้ตาม ภ.ง.ด.51 มาหักออกก่อน
ภ.ง.ด.50
1. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ชำระภาษีภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีจะต้องคำนวณ และชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน)ของเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติม ทั้งนี้ ให้คำนวณเงินเพิ่มเป็นรายเดือน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบฯจนถึงวันยื่นแบบฯ และชำระภาษี แต่ไม่เกินจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติม
2. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นแบบฯตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากรและไม่ยื่นบัญชีตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวอาจต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 4,000 บาท (มาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร)
ข้อมูล
จากคู่มือภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับผู้ประกอบการ SMEs กรมสรรพากร
บริษัท บัญชีสยามออนไลน์ จำกัด
รับจดทะเบียนบริษัท
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
เว็บไซต์:
บริษัท บัญชีสยามออนไลน์ จำกัด
http://www.atsaccounting.co.th/
บริษัท กล่องทองการบัญชี จำกัด