ก้าวสู่เจ้าของธุรกิจอย่างมืออาชีพด้วยการจดทะเบียนพาณิชย์

…เมื่อผู้ประกอบการ มีความประสงค์จะเปิดธุรกิจ จะต้องทำการวางแผนว่าจะเปิดธุรกิจ ในรูปแบบใดดีที่เหมาะสมกับธุรกิจของตน เช่น ถ้าจะเปิดเป็นร้านค้า ก็ต้องจดทะเบียนพาณิชย์  แต่ถ้าจะจดทะเบียนให้ดูน่าเชื่อถือก็ต้องจดจัดตั้งเป็นธุรกิจในรูปของนิติบุคคล ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด  ทั้งนี้ต้องคำนึงถึง ความพร้อมของธุรกิจเป็นหลัก การจดทะเบียนดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าธุรกิจได้เริ่มจัดตั้งและดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการรองรับสิทธิประโยชน์ต่างๆจากภาครัฐที่จะมีขึ้นในอนาคต

…การจดทะเบียนพาณิชย์ จะต้องมีการวางแผนการจดจัดตั้งอย่างเป็นระบบ จะต้องดำเนินการจดทะเบียนตามขั้นตอนต่างๆ ให้ถูกต้อง และครบถ้วน ทั้งนี้เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจมีขึ้น และต้องมาจดแก้ไขการจดทะเบียนในภายหลัง  ซึ่งจะทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ

ขั้นตอนที่จะต้องจัดเตรียมจดทะเบียนพาณิชย์

  1. ตัดสินใจเลือกประเภทของกิจการก่อนจดทะเบียนพาณิชย์ ว่าจะจัดตั้งกิจการในรูปแบบบุคคลธรรมดา (ร้านค้า) หรือ นิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด) ในส่วนนี้ เพื่อความเข้าใจง่ายๆ การเลือกประเภทธุรกิจสามารถพิจารณาได้ 3 ทาง ได้แก่
    • พิจารณาจากการเสียภาษี ในเรื่องของภาษี ถ้าประกอบธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดา จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูงสุด 35 % หมายความว่า เมื่อประกอบธุรกิจแล้วสิ้นปีมีกำไร จะต้องเสียภาษีตามอัตราขั้นบันได สูงสุด 35% ส่วนการประกอบธุรกิจในรูปนิติบุคคล  ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด เมื่อประกอบธุรกิจแล้วสิ้นปีมีกำไร จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามขั้นบันไดเช่นกัน  เช่น ประเภทธุรกิจ SMEs ( ต้องเข้าหลักเกณฑ์ 2 ข้อคือรายได้ไม่เกิน 30 ล้าน ทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้าน)  เมื่อประกอบกิจการมีกำไรจะเสียภาษี อัตรา 15 %  แต่ถ้าปีใดธุรกิจมีรายได้เกิน 30 ล้าน หรือมีทุนจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้วเกิน 5 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีในอัตรา 20 %

    • พิจารณาจากความมั่นคงและความน่าเชื่อถือ ในเรื่องของความมั่นคงและน่าเชื่อถือนั้นจะเห็นว่า การจดทะเบียนประกอบกิจการในรูปนิติบุคคล ทั้งในทางด้านการจัดการ เงินทุน หรือในด้านของความรับผิดชอบทางกฎหมาย เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่ามีความมั่นคงและน่าเชื่อถือกว่าการประกอบธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดา

    • พิจารณาจากส่วนของค่าใช้จ่ายในการจัดทำบัญชีและตรวจสอบบัญชี ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการจัดทำบัญชีและตรวจสอบบัญชีประจำปี การประกอบธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดาจะเสียค่าใช้จ่ายด้านการทำบัญชีและตรวจสอบบัญชีน้อยกว่า
  1. ตั้งชื่อธุรกิจ เลือกชื่อที่สื่อความหมาย จดจำง่าย สอดคล้องกับธุรกิจ รวมถึงการใช้ชื่อไม่ให้ซ้ำกัน ชื่อจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย  เป็นไปตามศีลธรรม
  2. เตรียมคำขอและเอกสารเพื่อประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์และการขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี
    • จดทะเบียนพาณิชย์ (ตั้งใหม่)
      • บุคคลธรรมดา
        • แบบ ทพ.
        • สำเนาบัตรประจำตัวของผู้ประกอบพาณิชยกิจ (กรณีมอบอำนาจให้จดทะเบียน)
        • กรณีผู้ประกอบพาณิชยกิจเป็นเจ้าบ้าน ให้แสดงทะเบียนบ้านต่อนายทะเบียน เว้นแต่ว่าไม่ได้ เป็นเจ้าบ้านต้องแนบเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
          • หนังสือให้ความยินยอมใช้สถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และเอกสารสิทธิ์ของผู้ให้ การยินยอม หรือ
          • สำเนาสัญญาเช่าสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่และเอกสารสิทธิ์ของผู้ให้เช่า
        • แผนที่แสดงสถานที่ซึ่งใช้ประกอบพาณิชยกิจ
        • หนังสือมอบอานาจ (ถ้ามี)
        • กรณีประกอบพาณิชยกิจ การขาย หรือให้เช่า แผ่นซีดี แถบบันทึก วิดิทัศน์ แผ่นวิดิทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวิดิทัศน์ ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง ให้ส่งสำเนาหนังสืออนุญาต หรือ หนังสือรับรองให้เป็นผู้จำหน่ายหรือให้เช่าสินค้าดังกล่าวจากเจ้าของลิขสิทธิ์ของสินค้าที่ขายหรือให้เช่าหรือสำเนาใบเสร็จรับเงินตามประมวลรัษฎากร หรือหลักฐานการซื้อขายจากต่างประเทศ
        • กรณีประกอบพาณิชยกิจการค้าอัญมณีหรือ เครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี ต้องดำเนินการและให้ตรวจสอบและเรียกหลักฐานแสดงจำนวนเงินทุน โดยเชิญผู้ประกอบพาณิชยกิจมาให้ข้อเท็จจริงของแหล่งที่มาของเงินทุน หรือชี้แจงเป็นหนังสือพร้อมแนบหลักฐานดังกล่าวแทนก็ได้
        • กรณีประกอบพาณิชยกิจโรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการทำหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีกส่งงาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้าง ให้ส่งสำเนาใบอนุญาตค้างาช้าง
      • นิติบุคล ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน (ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลและห้างหุ้นส่วนจำกัด) บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด ที่ประกอบพาณิชยกิจชนิดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องจดทะเบียนพาณิชย์
        • แบบ ทพ.
        • สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
        • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขอจดทะเบียน (กรณีมอบอำนาจให้จดทะเบียน)
        • หนังสือแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการของนิติบุคคล (ถ้ามี)
        • กรณีผู้ประกอบพาณิชยกิจเป็นเจ้าบ้าน ให้แสดงทะเบียนบ้านต่อนายทะเบียน เว้นแต่มิได้ เป็นเจ้าบ้านต้องแนบเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
          • หนังสือให้ความยินยอมใช้สถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และเอกสารสิทธิ์ของผู้ให้การยินยอม หรือ
          • สำเนาสัญญาเช่าสถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และเอกสารสิทธิ์ของผู้ให้เช่า
        • แผนที่แสดงสถานที่ซึ่งใช้ประกอบพาณิชย์
        • หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
        • กรณีประกอบพาณิชยกิจการขาย หรือให้เช่าแผ่นซีดี แถบบันทึกวีดิทัศน์ แผ่นวีดิทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดิทัศน์ ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง ให้ส่งสำเนาหนังสืออนุญาต หรือ หนังสือรับรองให้เป็นผู้จำหน่ายหรือให้เช่าสินค้าดังกล่าวจากเจ้าของลิขสิทธิ์ของสินค้าที่ขายหรือให้เช่า หรือสำเนาใบเสร็จรับเงินตามประมวลรัษฎากร หรือหลักฐานการซื้อขายจากต่างประเทศ
        • กรณีประกอบพาณิชยกิจการค้าอัญมณี หรือ เครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี ต้องดำเนินการและให้ส่งเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้
          • ตรวจสอบและเรียกหลักฐานแสดงจำนวนเงินทุน โดยเชิญผู้ประกอบพาณิชยกิจมาให้ข้อเท็จจริงของแหล่งที่มาของเงินทุน หรือชี้แจงเป็นหนังสือพร้อมแนบหลักฐานดังกล่าวแทนก็ได้
          • หลักฐานหรือหนังสือชี้แจงการประกอบอาชีพหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัด ความรับผิดหรือกรรมการผู้มีอำนาจของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทแล้วแต่กรณี
        • กรณีประกอบพาณิชยกิจโรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการทำหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีกส่งงาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้าง ให้ส่งสำเนาใบอนุญาตค้างาช้าง
  3. เลือกวิธีการจดทะเบียนพาณิชย์
    • ไปขอยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ด้วยตนเอง ที่สำนักงานพาณิชย์ใกล้ที่ตั้งของกิจการ
    • ไปขอยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ด้วยตนเอง ที่กรมพาณิชย์
    • ใช้บริการที่สำนักงานบัญชีต่างๆที่รับจ้างจดทะเบียนพาณิชย์
    • ใช้บริการของโปรแกรม e-Registration (e-Reg) เพื่อยื่นใบคำขอและเอกสารประกอบผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต

………………………………………

แหล่งที่มาของข้อมูล

            กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์

 

บริษัท บัญชีสยามออนไลน์ จำกัด

รับจดทะเบียนบริษัท รับทำบัญชี ด้วยโปรแกรมบัญชีออนไลน์ รับตรวจสอบบัญชี

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

02-964-0061, 02-964-0062, 065-449-1925, 096-656-9162 

ติดตามเว็บไซต์: http://www.atsaccounting.co.th/ หรือ https://buncheesiam.com/ 

หรือติดต่อที่เพจ: สำนักงานบัญชีสยามออนไลน์ รับทำบัญชี นนทบุรี